สโมสรเพื่อนตะวันออก
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.
สโมสรเพื่อนตะวันออก

peunpeuntawanok.forumsmotion.com


You are not connected. Please login or register

ธนาคารกรามีน - ธนาคารของคนจน

2 posters

Go down  ข้อความ [หน้า 1 จาก 1]

กัญจน์


Admin

ที่มา http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=675

บทความพิเศษ : มูฮัมหมัด ยูนุส ประเทศไทย และอนาคตไมโครเครดิต
สฤณี อาชวานันทกุล

“คณะกรรมการโนเบลขอมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำ ปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ให้แก่ มูฮัมหมัด ยูนุส และธนาคารกรามีน เพื่อตอบแทนความพยายามของพวกเขาที่จะรังสรรค์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม จากรากหญ้า สันติภาพที่ยั่งยืนไม่สามารถบังเกิดได้ในโลก จนกว่าประชากรจำนวนมากจะพบวิธีหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร สินเชื่อเพื่อผู้ยากไร้ (ไมโครเครดิต) เป็นวิธีหนึ่ง นอกจากนี้การพัฒนาจากรากหญ้ายังช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอีก ด้วย

มูฮัมหมัด ยูนุส ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคือผู้นำที่สามารถแปลงวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ จริง เพื่อช่วยเหลือคนหลายล้านคน ทั้งในบังกลาเทศและอีกหลายประเทศทั่วโลก ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า การให้สินเชื่อแก่คนจนที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ ไม่มีทางทำได้ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ กว่า ๓๐ ปีที่แล้ว ยูนุสได้พัฒนาแนวคิดเรื่องไมโครเครดิตผ่านธนาคารกรามีน ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการต่อสู้กับความยากจน ธนาคารกรามีนได้กลายเป็นแหล่งผลิตไอเดียและโมเดลสำหรับสถาบันไมโครเครดิตที่ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก

ทุกคนในโลกล้วนมีทั้งศักยภาพและสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร ยูนุสและธนาคารกรามีนได้พิสูจน์ว่า แม้กระทั่งผู้ยากไร้ที่ยากจนข้นแค้นที่สุด ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในวัฒนธรรมหรืออารยธรรมใด ๆ

ในสังคมคนจน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่กดขี่พวกเธอ ไมโครเครดิตได้แสดงให้โลกเห็นพลังแห่งการปลดปล่อยที่สำคัญ เราไม่อาจบรรลุความเจริญทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ได้ จนกว่าผู้หญิงทั้งมวลซึ่งเป็นประชากรกว่าครึ่งของโลก จะมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ชาย

วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของยูนุส คือการกำจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก วิสัยทัศน์นี้ไม่สามารถเป็นจริงได้ด้วยไมโครเครดิตเพียงอย่างเดียว แต่ มูฮัมหมัด ยูนุส และธนาคารกรามีน ได้แสดงให้โลกเห็นว่า ไมโครเครดิตจะต้องเป็นส่วนสำคัญของความพยายามดังกล่าว”

- คำประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๖ -

ประกายแห่งจิตสาธารณะ

มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เกิดเมื่อปี ๑๙๔๐ ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ บาธัว อำเภอฮาตาซารี เมืองจิตตะกอง ศูนย์กลางธุรกิจของประเทศในยุคก่อนที่บังกลาเทศจะเป็นเอกราชจากปากีสถาน (สมัยนั้นชื่อของบังกลาเทศคือ “ปากีสถานตะวันออก”) เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ๑๔ คน ซึ่ง ๕ คนในจำนวนนั้นตายตอนเป็นเด็กทารก หลังจากใช้ชีวิตวัยเด็กในหมู่บ้านได้ ๗ ปี ครอบครัวของเขาก็ย้ายเข้าไปอยู่ในตัวเมือง เมื่อพ่อของเขาเปิดร้านขายเพชรพลอย ฐานะของครอบครัวยูนุสก็ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น พ่อแม่สามารถส่งยูนุสเข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนและมหาวิทยาลัยท้องถิ่น จนจบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ คะแนนกว่าร้อยละ ๙๘ ตอนจบปริญญาโททำให้ยูนุสได้รับทุนฟุลไบรต์ (Fulbright Scholarship) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University) ในสหรัฐอเมริกา

ระหว่างที่ทำปริญญาเอกอยู่นั้น ยูนุสเริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิด เดิลเทนเนสซีสเตต (Middle Tennessee State University) ในปี ๑๙๗๐ ปีถัดมา สงครามเพื่ออิสรภาพของบังกลาเทศปะทุขึ้นอย่างดุเดือด นับเป็นเชื้อไฟชิ้นแรกที่โหมจิตสาธารณะของยูนุสให้เปล่งประกาย เมื่อเขาร่วมมือกับชาวบังกลาเทศโพ้นทะเลอีกหลายคน ก่อตั้ง “คณะกรรมการพลเรือนบังกลาเทศ” (Bangladesh Citizen’s Committee) และ “ศูนย์ข้อมูลบังกลาเทศ” (Bangladesh Information Centre) เพื่อเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกองกำลังกู้ชาติ และล็อบบีผู้มีอำนาจในกรุงวอชิงตันให้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราช

ยูนุสเรียนจบปริญญาเอกในปีเดียวกับที่บังกลาเทศได้รับเอกราช เขาตัดสินใจบินกลับบ้านเกิดในปี ๑๙๗๑ ยูนุสบรรยายความรู้สึกของเขาในช่วงนั้นไว้ในหนังสือ นายธนาคารเพื่อคนจน (Banker to the Poor) ว่า

“สงคราม (เพื่ออิสรภาพ) ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ชาวบังกลาเทศกว่า ๓ ล้านคนจบชีวิตในสงคราม และอีก ๑๐ ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอินเดีย ประชาชนอีกหลายล้านคนตกเป็นเหยื่อข่มขืนและทารุณกรรมอื่น ๆ ของทหารปากีสถาน กว่าสงครามจะจบลง เศรษฐกิจของบังกลาเทศก็พังพินาศอย่างย่อยยับ คนเป็นล้าน ๆ คนต้องหาที่อยู่ใหม่ ผมตระหนักว่า ผมต้องกลับบ้านและพยายามมีส่วนร่วมในการสร้างชาติใหม่ ผมคิดว่านั่นคือหน้าที่”

ยูนุสเริ่มสอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจิตตะกองในปี ๑๙๗๓ เขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พ่อให้เขายืมรถขับไปสอนหนังสือ ระหว่างทางจากบ้านไปมหาวิทยาลัย ยูนุสต้องขับรถผ่านหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่งชื่อ โจบร้า (Jobra) หลังจากที่ได้เห็นความยากไร้ด้วยตาตัวเองแทบทุกวัน ยูนุสก็เริ่มรู้สึกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เขาได้ร่ำเรียนจนจบดอกเตอร์มานั้น ช่างห่างไกลกันเหลือเกินกับชีวิตของผู้ยากไร้ เขาเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ใน นายธนาคารเพื่อคนจน ว่า

“การวิเคราะห์ (ของนักเศรษฐศาสตร์) เกี่ยวกับสาเหตุของความยากจนนั้น เน้นหนักที่การหาคำตอบว่าเหตุใดบางประเทศจึงยากจน แทนที่จะหาคำตอบว่าเหตุใดประชากรบางกลุ่มจึงมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคมมักพูดถึง ‘สิทธิ’ ต่าง ๆ ของคนจน แต่สิ่งที่ผมยังไม่รู้เกี่ยวกับความหิวโหย แต่ได้เรียนรู้ตลอด ๒๒ ปีให้หลัง คือข้อเท็จจริงที่ว่า นักเศรษฐศาสตร์ผู้ฉลาดปราดเปรื่องด้านทฤษฎีทั้งหลาย มองไม่เห็นความสำคัญของการอภิปรายเรื่องความยากจนและความหิวโหย เพราะพวกเขาเชื่อว่าปัญหานี้จะหมดไปเองเมื่อเศรษฐกิจทั้งระบบเจริญขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้หมดพลังสมองไปกับการแจกแจงกระบวนการพัฒนาและความ เจริญทางเศรษฐกิจ แต่ไม่สนใจศึกษาสาเหตุและการดำรงอยู่ของความยากไร้และความหิวโหย ผลที่เกิดขึ้นจากความละเลยนี้คือ ความยากจนก็ดำรงอยู่ต่อไป”

ในปี ๑๙๗๔ บังกลาเทศประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง รวมถึงหมู่บ้านโจบร้าด้วย ความท้อแท้และหมดหวังของยูนุสที่มีต่อตำราเศรษฐศาสตร์พุ่งถึงขีดสุด เขาตัดสินใจทิ้งห้องเรียนไว้เบื้องหลังเพื่อหาวิธีช่วยเหลือคนจนอย่างจริง จัง เริ่มด้วยโครงการวิจัยภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านโจบร้า โดยให้นักเรียนของเขาเก็บข้อมูลด้วยการเดินสายสัมภาษณ์ชาวบ้าน หลังจากนั้นไม่นาน วิชาเศรษฐศาสตร์ของยูนุสก็กลายเป็น “เศรษฐศาสตร์ภาคสนาม” อย่างแท้จริง

การลงพื้นที่หลายครั้งทำให้ยูนุสพบว่า หนึ่งในรากของปัญหาภัยแล้งที่โจบร้าและในหมู่บ้านกว่าค่อนประเทศในช่วงนั้น คือ ปั๊มน้ำและบ่อน้ำบาดาลหลายบ่อที่รัฐบาลให้เงินขุด ถูกปล่อยให้เหือดแห้งอย่างไม่ไยดี ทั้ง ๆ ที่น้ำจากบ่อน้ำเหล่านี้จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการเกี่ยวข้าวใน หน้าแล้ง ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะชาวบ้านเกี่ยงกันว่าใครควรเป็นคนจ่ายเงินค่าดูแลรักษา บ่อ ยูนุสเรียกประชุมลูกบ้านในโจบร้า เสนอให้จัดตั้งสหกรณ์เพื่อการเกษตรแบบใหม่ที่เขาเรียกว่า “ฟาร์มสามหุ้น” (Tebhaga Khamar) โดยให้เจ้าของที่ดินยอมให้ชาวนาใช้ที่ในหน้าแล้ง ชาวนาลงแรงปลูกข้าว ส่วนยูนุสเป็นคนออกค่าเชื้อเพลิงที่ต้องใช้สำหรับปั๊มน้ำ ค่าเมล็ดพืช ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และความรู้ทางเทคนิค เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวไปขายแล้ว ก็เอารายได้มาแบ่งกันฝ่ายละ ๑ ใน ๓ ยูนุสแต่งตั้งให้นักเรียน ๔ คนที่เรียนในวิชาของเขา ทำหน้าที่เป็นผู้นำชาวบ้าน และใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะหว่านล้อมให้ชาวบ้านทุกครัวเรือน ตั้งแต่เจ้าของบ่อน้ำ ชาวนาผู้มีฐานะ และแรงงานเกษตรไร้ที่ดิน ยอมหันหน้ามาร่วมมือกัน

โครงการฟาร์มสามหุ้นประสบผลสำเร็จเกินคาด โจบร้ากลายเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ในบังกลาเทศที่เก็บเกี่ยวข้าวในฤดูแล้งได้ แม้ว่ายูนุสเองจะขาดทุนกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท เพราะชาวนาบางคนมุบมิบรายได้เอาไว้ ไม่แบ่งให้ยูนุส ๑ ใน ๓ ตามสัญญา ต่อมารัฐบาลบังกลาเทศนำแนวคิดนี้ของยูนุสไปใช้ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการปัจจัยการผลิตเหมาจ่าย” (Packaged Input Programme) - แน่นอน โดยไม่ให้เครดิตกับคนต้นคิด ไม่ต่างจากรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่ชอบอุปโลกน์ความคิดของคนอื่นมา เป็นของตัว

แต่สิ่งหนึ่งที่ยูนุสไม่คาดคิดมาก่อนคือ ความสำเร็จของฟาร์มสามหุ้นกลับช่วยขับเน้นปัญหาของคนจนที่แร้นแค้นที่สุดให้ เด่นชัด ความพยายามของยูนุสที่จะแก้ปัญหานี้ได้นำไปสู่การก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจน แห่งแรกของโลกในอีกไม่กี่ปีต่อมา

กำเนิดธนาคารกรามีน

ระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของฟาร์มสามหุ้น ยูนุสสังเกตว่ากลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากโครงการนี้คือแรงงาน รับจ้างฝัดข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ถูกสามีทิ้งหรือหย่า และมีลูกติด หญิงเหล่านี้ต้องตื่นมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ แลกกับค่าจ้างเพียงวันละไม่ถึง ๒๐ บาท ความลำบากของพวกเธอทำให้ยูนุสมองเห็นว่า ยิ่งชาวนามีฐานะดีเท่าไร เขาก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากโครงการฟาร์มสามหุ้นเท่านั้น แต่โครงการนี้ไม่ได้ช่วยผู้ยากไร้อย่างยั่งยืน เพราะหลังจากทำงานหนักเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผู้หญิงยากไร้เหล่านี้ก็จะกลับไปเป็นคนตกงานเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ถ้าพวกเธอมีทุนรอนพอที่จะซื้อที่นามาทำเอง รายได้ของพวกเธอน่าจะดีกว่านี้ ๔-๕ เท่า ประสบการณ์นี้ทำให้ยูนุสตระหนักว่า “คนจน” นั้นมีหลายระดับ และประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือคนจนต่าง ๆ อาจตกไม่ถึงมือคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ หากผู้คุมโครงการไม่พยายามแยกแยะคนจนแต่ละระดับ และวางหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่รัดกุมพอที่จะไม่ให้คนที่ “จนน้อยกว่า” เอาเปรียบคนที่จนที่สุดของสังคมได้

ในปีต่อมา ยูนุสใช้ความพยายามมากขึ้นในการหาทางช่วยเหลือคนที่จนจริง ๆ เขาออกตระเวนเก็บข้อมูลของคนที่จนที่สุดในหมู่บ้านโจบร้า พบว่าคนกลุ่มนั้นเป็นผู้หญิง ๔๒ คนที่ล้วนมีอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ พวกเธอต้องกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบในอัตราแพงลิบลิ่ว คือดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เพื่อซื้อไม้ไผ่มาสาน หลังจากนั้นก็ต้องขายเฟอร์นิเจอร์คืนให้แก่เจ้าหนี้นอกระบบ ได้กำไรเพียงครั้งละ ๕ ตากา หรือประมาณ ๒ บาท ๕๐ สตางค์เท่านั้น รายได้อันน้อยนิดนี้ทำให้พวกเธอแทบไม่มีทางหาเลี้ยงครอบครัวได้ พวกเธอรวม ๔๒ คนเป็นหนี้นอกระบบจำนวน ๘๕๖ ตากา หรือประมาณ ๔๒๘ บาท คิดเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ ๑๐ บาทเท่านั้น ยูนุสตัดสินใจควักกระเป๋าให้พวกเธอยืมเงินเขาไปใช้คืนเจ้าหนี้โดยไม่คิด ดอกเบี้ย

คืนนั้นยูนุสนอนไม่หลับ จนกระทั่งเขาคิดได้ว่า วิธีเดียวที่จะทำให้คนยากไร้หลุดพ้นจากวังวนอุบาทว์ของหนี้นอกระบบอันแพงมหา โหด คือจะต้องมีธนาคารที่ยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่คนจนโดยคิดดอกเบี้ยอัตราตลาด และไม่เรียกหลักประกัน เพราะคนจนย่อมไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้

วันรุ่งขึ้น ยูนุสไปเจรจากับธนาคารรัฐแห่งหนึ่งในเมือง เพื่อขอเงินกู้ให้แก่คนจน แน่นอน เจ้าหน้าที่ธนาคารปฏิเสธข้อเสนอของยูนุส เขายืนกรานว่า ไม่มีธนาคารไหนในโลกที่จะให้คนจนกู้เงินโดยไม่มีหลักประกัน แถมคิดดอกเบี้ยตามอัตราตลาด เพราะคนจนมีความเสี่ยงสูงที่จะชำระหนี้ไม่ได้

ยูนุสวิงวอนว่า ธนาคารน่าจะยอมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนจนหน่อย เพราะถ้าคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถจริง ๆ ก็คงอดตายไปนานแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขายังมีลมหายใจพอที่จะเอาตัวรอดได้ ก็น่าจะเป็น “หลักประกัน” ที่เพียงพอสำหรับธนาคารแล้วว่า ลูกหนี้เหล่านี้จะต้องดิ้นรนหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้ เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า เงินกู้ก้อนนี้นับเป็น “โอกาสสุดท้าย” ของชีวิต ไม่อย่างนั้นก็ต้องซมซานกลับไปหาเจ้าหนี้นอกระบบอีก

ความเชื่อมั่นของยูนุสข้อนี้ ตรงกับความคิดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมความจน ว่า

“...การกู้หนี้ยืมสินเป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของวัฒนธรรมความจน (จะยืมเป็นข้าวหรือยืมเป็นเงินก็ตาม) เพราะฉะนั้นคนจนจะต้องรักษาแหล่งกู้ของเขาให้ดำรงอยู่กับเขาตลอดไป เพราะชีวิตของคนจนเข้าถึงแหล่งกู้ได้จำกัด จะรักษาได้ก็โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแหล่งกู้นั้น ๆ สิ่งแรกก็คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง การที่ไม่สามารถหาเงินมาชดใช้ได้ตามกำหนดเวลา กับการตั้งใจเบี้ยวหนี้นั้น ไม่เหมือนกันนะครับ คนจนจะพยายามไม่เบี้ยวหนี้ แต่อาจไม่สามารถหาเงินมาชดใช้เจ้าหนี้ได้ตามเวลา...

...ฉะนั้นจึงมีกลไกทางวัฒนธรรมความจนอยู่ ที่จะทำให้คนจนมีความซื่อสัตย์ในเรื่องหนี้สิน”

ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ธนาคารก็ไม่ยอมปล่อยเงินกู้ จนท้ายที่สุดยูนุสต้องยอมเซ็นสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ทั้งก้อนให้แก่คน จน ธนาคารถึงจะยอมปล่อยกู้ให้ กว่าธนาคารจะตกลงกับยูนุส ก็กินเวลากว่า ๖ เดือน จนล่วงเข้าสู่ปี ๑๙๗๗ แต่วิธีนี้ก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ เช่นทุกครั้งที่คนจนอยากเบิกเงินกู้ ยูนุสต้องเป็นคนเซ็นใบขอเบิกเงินกู้ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าเขาจะไปไหน ธนาคารก็จะตามส่งแบบฟอร์มต่าง ๆ ให้ยูนุสเซ็นตลอดเวลา โดยไม่ยอมติดต่อกับคนจนผู้กู้โดยตรง

หลังจากที่ทำแบบนี้ตลอดปี ๑๙๗๗ ยูนุสก็ตัดสินใจก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนขึ้นมาเอง จะได้ปล่อยกู้ให้แก่ผู้ยากไร้ได้โดยสะดวก ไม่ต้องคบค้าสมาคมกับธนาคารพาณิชย์ในระบบ ซึ่งเขามองว่าไม่เคยสร้างกลไกใด ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ยากไร้อยู่ดี

ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ก่อตั้งขึ้นด้วยกฎหมายพิเศษ ด้วยทุนจดทะเบียน ๑๐๐ ล้านตากา (ประมาณ ๕๐ ล้านบาท) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน ๕๐๐ ล้านตากา รัฐบาลบังกลาเทศเป็นผู้ถือหุ้นเริ่มแรกกว่าร้อยละ ๖๐ แต่ค่อยๆ ยอมลดสัดส่วนของตัวเองลงมาให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารกรามีน จนเหลือเพียงร้อยละ ๕.๗ ในปัจจุบัน เพราะยูนุสเชื่อมั่นว่า ลูกหนี้ที่ชำระคืนเงินกู้ตรงเวลา ควรได้รับสิทธิให้เป็นผู้ถือหุ้น กรามีนจะได้เป็น “ธนาคารของคนจน” อย่างแท้จริง ปัจจุบันลูกหนี้ของกรามีนถือหุ้นรวมกันร้อยละ ๙๔.๓ มีสิทธิเลือกกรรมการ ๙ คนในคณะกรรมการธนาคาร กรรมการที่เหลืออีก ๓ คนเป็นตัวแทนรัฐบาล

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปลายปี ๒๐๐๕ กรามีนปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า ๑๔๐,๐๐๐ ล้านตากา ให้แก่ผู้ยากไร้จำนวน ๕.๑ ล้านครัวเรือนในบังกลาเทศ ปัจจุบันมีสาขากว่า ๑,๔๐๐ แห่งทั่วประเทศ ให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านกว่า ๕๑,๐๐๐ แห่ง หรือกว่า ๓ ใน ๔ ของหมู่บ้านทั่วประเทศ มีหนี้เสียต่ำกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่มาตรฐานสากลถือว่า “ดีมาก”

ในปี ๑๙๙๕ กรามีนประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้จำนวนกว่า ๕,๔๐๐ ล้านตากา เพื่อระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในบังกลาเทศมาชำระคืนเงินกู้จากธนาคารกลาง และเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของกรามีน ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โมเดลของกรามีนสามารถอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ และสามารถระดมทุนจากตลาดเงินได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากผู้มีอุปการคุณภาครัฐอีกต่อไป

ความสำเร็จของธนาคารกรามีนเป็นแรงบันดาลใจให้ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้อีก ๒๕๐ แห่งในกว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก จนทำให้ยูนุสเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้มีผลงานด้านการเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม

โมเดลกรามีน
โมเดลใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม

เนื่องจากยูนุสตั้งใจให้กรามีนเป็น “ธนาคารเพื่อคนจน” ตั้งแต่แรก (“กรามีน” แปลว่า “ชนบท” หรือ “หมู่บ้าน”) เขาจึงต้องคิดค้นโมเดลใหม่ในการดำเนินธุรกิจ เพราะโมเดลของธนาคารพาณิชย์กระแสหลักตั้งอยู่บนการเรียกทรัพย์สินเป็นหลัก ประกัน สัญญาเงินกู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และรายได้ประจำอันสม่ำเสมอของลูกหนี้ ซึ่งคนจนผู้ไม่รู้หนังสือไม่อาจหาให้ได้ทั้งสามอย่าง

ปัจจัยและกระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จของธนาคารกรามีน ซึ่งผ่านการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี อาจแบ่งได้เป็น ๓ ประการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

๑. การยึดมั่นในเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่แสวงหากำไร ไม่ใช่องค์กรการกุศล

ยูนุสตั้งใจให้ธนาคารกรามีนเป็นธนาคารจริง ๆ กล่าวคือ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่คิดดอกเบี้ย และต้องการเงินกู้คืนจากลูกหนี้ ไม่ใช่องค์กรการกุศลเอาเงินบริจาคมา “แจก” ให้คนจนเฉย ๆ ความแตกต่างในระดับวิสัยทัศน์ระหว่างธนาคารกรามีนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป อยู่ที่ “เป้าหมายสูงสุด” ของการให้บริการ ดังคำอธิบายบนเว็บไซต์ของกรามีนว่า

“เป้าหมายหลักของธนาคารพาณิชย์กระแสหลักคือ การสร้างผลกำไรสูงสุด เป้าหมายของธนาคารกรามีนคือ การนำบริการของสถาบันการเงินไปสู่คนจน โดยเฉพาะผู้หญิง ๓ ใน ๔ ของประชากร เพื่อช่วยให้เขาต่อสู้กับความยากจน มีกำไรเลี้ยงตัว และมีฐานะมั่นคง เหล่านี้เป็นเป้าหมายรวมที่เกิดจากวิสัยทัศน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ”

การที่เป้าหมายสูงสุดของกรามีนคือประโยชน์ทางสังคม ไม่ใช่ตัวเลขกำไร คือคำอธิบายที่สำคัญที่สุดว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” แตกต่างจากธุรกิจธรรมดาอย่างไร และเป้าหมายนี้ก็สอดคล้องกันกับโมเดลธุรกิจของกรามีนด้วย เพราะธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้คนจนผู้ไม่รู้หนังสือที่อาศัยอยู่ในชนบทห่าง ไกล ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการกรองและติดตามหนี้ ตลอดจนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ปกติ การทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นมีผลตอบแทนสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากไม่น้อย

นอกจากนี้ การที่กรามีนดำเนินธุรกิจจริง ๆ หมายความว่ามีกระบวนการติดตามให้คนจนชำระหนี้ตรงเวลา ยังช่วยป้องกันปัญหาบิดเบือนแรงจูงใจของลูกหนี้ หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า moral hazard ที่มักเกิดขึ้นในกรณีที่คนจนคิดว่าเงินกู้เป็น “เงินให้เปล่า” ที่ไม่จำเป็นต้องใช้คืน ความคิดแบบนี้ทำให้คนจนนำเงินกู้ไปใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคเสมือนเป็นเงิน ของตัวเอง แทนที่จะนำไป “ลงทุน” ในกิจกรรมที่จะสามารถออกดอกออกผล นำเงินมาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้

ความเสี่ยงด้าน moral hazard เป็นเหตุผลหลักที่ยูนุสพยายามกีดกันภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จำกัดบทบาทของรัฐในกรามีนให้เหลือน้อยที่สุด แม้ว่ารัฐบาลบังกลาเทศแทบทุกยุคจะพยายามหว่านล้อมยูนุสให้ยอมให้รัฐถือหุ้น และมีส่วนร่วมในการบริหารกรามีนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะยูนุสกังวลว่า หากธนาคารอย่างกรามีนกลายเป็นองค์กรรัฐ ภาวะ “สายตาสั้น” ของนักการเมืองที่มักมองว่า คะแนนนิยมของพรรคตัวเองสำคัญกว่าความเจริญอย่างยั่งยืนของประเทศ ก็อาจทำให้นักการเมืองอดไม่ได้ที่จะบิดเบือนแนวคิดของกรามีน เอาไปใช้ในการ “หาเสียง” กับคนจน ด้วยการ “แจก” เงินกู้ที่ไม่หวังเอาคืน หรือโฆษณาว่าจะ “ยกหนี้” ให้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะกดให้คนจนต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐไปเรื่อย ๆ แทนที่จะหาวิธีช่วยตัวเอง

อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ของภาคชนบทไทยที่พุ่งสูงขึ้นมากภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความกังวลของยูนุสนั้นไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อย และรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกอาจมีวิธี “หากิน” กับคนจนอย่างฉาบฉวย หวังผลระยะสั้น และไม่มีทางช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความจนอย่างถาวรได้

๒. การสร้างกระบวนการและกลไกต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้คนจนชำระหนี้ได้

ในเมื่อธนาคารกรามีนต้องการทำธุรกิจกับคนจนที่ไม่มีหลักประกัน ยูนุสจึงต้องคิดค้นกระบวนการและกลไกใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ลูกหนี้ของเขาสามารถชำระหนี้ได้ เพราะถึงแม้ว่าคงไม่มีใครอยาก “เบี้ยวหนี้” กรามีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจนทุกคนจะสามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา โดยเฉพาะถ้าธนาคารปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพของลูกหนี้ เช่นถ้าธนาคารปล่อยกู้ให้แก่คนที่มีรายได้เพียง ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน ด้วยวงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๕ ปี ดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ต่อปี ให้ชำระเงินต้นบางส่วนและดอกเบี้ยทุกเดือน ก็แปลว่าลูกหนี้อาจต้องจ่ายถึงเดือนละ ๔,๒๐๐ บาท ซึ่งแปลว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะชำระหนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครอยู่ได้ด้วยรายได้สุทธิเพียง ๘๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น

ตัวอย่างกระบวนการและกลไกต่าง ๆ ที่ยูนุสคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้คนจนชำระหนี้ได้เช่น ระบบอนุมัติเงินกู้แบบกลุ่ม (solidarity group) หมายความว่า คนจนที่อยากกู้กรามีน แทนที่จะขอกู้เป็นรายบุคคล ก็ต้องขอกู้เงินเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๕ คน ต่างคนต่างเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ซึ่งกันและกัน วิธีนี้เป็นการใช้แรงกดดันทางสังคมสร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้ตรงเวลา เพราะคนที่ชำระหนี้ไม่ได้ แต่เพื่อนร่วมกลุ่มทำได้ คงอับอายขายหน้า และก็จะถูกกดดันหรือได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมกลุ่มให้ชำระหนี้ให้ได้ ด้วย เพราะเงินกู้ที่กรามีนให้ครั้งแรกนั้นมีจำนวนน้อย ลูกหนี้ทุกคนในกลุ่มต้องชำระหนี้ให้ครบจำนวน ก่อนที่กรามีนจะอนุมัติเงินกู้ก้อนต่อไป

เนื่องจากกรามีนทำธุรกิจกับคนจน ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงในการดำรงชีวิตสูงกว่าคนอื่น ๆ และส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ ทำให้ยูนุสต้องออกแบบเงื่อนไขเงินกู้ที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เช่น ให้กู้ในจำนวนน้อย เพียงพอที่จะช่วยในการยังชีพ แต่ไม่มากพอที่จะเอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวได้ คิดแต่ดอกเบี้ยปรกติ ไม่มีดอกเบี้ยทบต้น และส่งพนักงานธนาคารไปเก็บเงินตามบ้าน แทนที่จะให้ลูกหนี้เดินทางไปหาธนาคาร

สมัยที่กรามีนเริ่มต้นใหม่ ๆ ยูนุสมักปล่อยเงินกู้จำนวน ๓๖๕ ตากา หรือประมาณ ๑๘๓ บาทต่อปี ให้คนจนชำระคืนเป็นรายวัน วันละ ๑ ตากา วิธีนี้ทำให้จำง่าย และทำให้คนจนไม่รู้สึกว่าเงินกู้ของกรามีนเป็นภาระมากเกินไป ปัจจุบันเงินกู้ของกรามีนมีระยะเวลา ๑ ปี ชำระคืนเงินต้นร้อยละ ๒ ทุกสัปดาห์ ดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต่อปี

นอกจากนี้กรามีนยังไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัด คืออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราปรกติ ที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปใช้คิดดอกเบี้ยหลังจากลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ วิธีจัดการลูกหนี้ผิดนัดของกรามีนคือ ยอมให้ลูกหนี้ยืดอายุการชำระหนี้ออกไป และจะหยุดคิดดอกเบี้ยทันทีที่ยอดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนสูงเท่ากับยอดเงินต้น เท่ากับเป็นการจำกัดยอดหนี้ที่คนจนต้องจ่าย ไม่ว่าเขาจะผิดนัดไปนานขนาดไหนก็ตาม

ท้ายที่สุด ลูกหนี้ที่ชำระคืนเงินกู้ตรงเวลาและมีเงินออมระดับหนึ่ง จะมีสิทธิ์ซื้อหุ้น ๑ หุ้นในธนาคาร ในราคาประมาณ ๑๐๐ ตากาหรือ ๕๐ บาท ยูนุสกำหนดให้ลูกหนี้เท่านั้นที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นธนาคารกรามีน วิธีนี้นอกจากเป็นการทำให้กรามีนเป็น “ธนาคารของคนจน” จริง ๆ แล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้คนจนมีความกระตือรือร้นที่จะติดตามผลการดำเนินงานของ ธนาคารในฐานะ “เจ้าของ” คนหนึ่ง

มาตรการเหล่านี้ทำให้คนจนรู้สึกอบอุ่นใจว่า กรามีนต้องการช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่เป็นนายทุนขูดรีดที่อยากรีดเลือดกับปู และยิ่งทำให้ลูกหนี้ของกรามีนไว้เนื้อเชื่อใจธนาคาร และตั้งใจมากขึ้นที่จะไม่ผิดสัญญาเงินกู้

กล่าวโดยสรุป หลักการที่นำไปสู่การกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ของกรามีน ไม่ได้ตั้งอยู่บนการตีค่าสินทรัพย์ของลูกหนี้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป หากตั้งอยู่บนศักยภาพของลูกหนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปประเมินค่าของทรัพย์สินที่คนหามาได้แล้ว ในขณะที่กรามีนประเมินศักยภาพซ่อนเร้นของปัจเจกชนที่เพียงแต่รอวันแสดงออก ด้วยแรงกระตุ้นที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานภาพของเขา

๓. การให้การศึกษาและมอบอำนาจแก่คนจน (empowerment)

ยูนุสเรียกโมเดลธุรกิจของเขาว่า “trust-based banking” คือธนาคารที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนจนในฐานะลูกหนี้ แต่ลำพังความเชื่อมั่นข้อนี้ไม่พอที่จะช่วยรับประกันได้ว่า คนจนทุกคนจะสามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะพวกเขาอาจไม่เคยรู้จักวินัยในการใช้เงิน วิธีบริหารเงิน หรือลู่ทางในการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เนื่องจากต้องหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาเลี้ยงปากท้องวันต่อวัน

ดังนั้นกรามีนจึงทุ่มเททั้งเงินและเวลามากมายในการหาวิธีช่วย “ขับดัน” ให้ศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ในตัวลูกหนี้ทุกคน สามารถทำประโยชน์ให้พวกเขาในชีวิตจริงได้ ตลอดจนช่วยบรรเทาความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของพวกเขา เช่นกรามีนให้สินเชื่อการศึกษาดอกเบี้ยต่ำสำหรับบุตรหลานของลูกหนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อการประมง สินเชื่อระบบชลประทาน บังคับให้ลูกหนี้ออมเงินร้อยละ ๕ ของเงินกู้ ในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนบำนาญ กองทุนประกันชีวิต และกองทุนฉุกเฉิน

มิติด้านการศึกษาของกรามีนอาจเป็นมิติที่ช่วยเหลือลูกหนี้ให้พ้นปลักแห่ง ความจนได้อย่างยั่งยืนที่สุด นอกเหนือจากให้การศึกษาลูกหนี้เกี่ยวกับทักษะในการบริหารเงินและวินัยในการ ใช้จ่าย กรามีนยังสนับสนุนให้ลูกหนี้รับเป้าหมายพื้นฐานต่างๆ ด้านสังคม การศึกษา และสุขภาพ มาเป็นเป้าหมายในชีวิตของตน เช่น ให้ลูกหลานทุกคนได้รับการศึกษา บ้านมีส้วมถูกสุขลักษณะ ไม่มีใครในครอบครัวต้องนอนบนพื้น มีเงินฝากธนาคารไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ตากา (๒,๕๐๐ บาท) และมีแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด เป้าหมายเหล่านี้ยังเป็น “ดัชนีความจน” ที่ยูนุสใช้ในการประเมินผลว่า ในแต่ละปีมีลูกหนี้ของกรามีนกี่ครัวเรือนที่หลุดพ้นจากความยากจนได้ (ภายใต้นิยามดังกล่าว ปัจจุบันลูกหนี้กว่าร้อยละ ๕๘ ของกรามีนได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว)

การเป็นลูกหนี้ของกรามีนจึงมีความหมายมากกว่าการกู้เงินธรรมดา หากเป็นการ “เข้าถึง” ช่องทางและกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ให้เขาหลุดออกจากวัฏจักร “โง่-จน-เจ็บ” ได้อย่างถาวร

เพราะ “วินัยในการใช้เงิน” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนเกิดมาก็มีโดยอัตโนมัติ ขนาดลูกหนี้บัตรเครดิตที่เป็นสมาชิกชนชั้นกลางหลายต่อหลายคนยังมีปัญหากับ การจ่ายเงินตรงเวลา ถ้าไม่วางแผนดี ๆ ล่วงหน้าและตั้งสติทุกครั้งที่รูดบัตร

ไมโครเครดิตในประเทศไทย

ถ้ามองจากนิยามของ “ไมโครเครดิต” ที่ตรงตัวที่สุด นั่นคือ “สินเชื่อสำหรับคนจน” คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า แนวคิดในประเทศไทยที่เหมือนจะ “ตรง” กับโมเดลของยูนุสที่สุดคือ “กองทุนหมู่บ้าน” ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนาแนวคิดไปใช้กับ “กองทุนเอสเอ็มแอล” ด้วย

แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด โดยเฉพาะเงื่อนไขเงินกู้และขั้นตอนการติดตามผล (ที่แทบไม่มี) กองทุนหมู่บ้านไม่ใช่โมเดลของกรามีนแน่ ๆ เพราะเน้นแต่การให้เงินกู้ในปริมาณมาก ๆ เป็นหลัก โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกหนี้ในระยะยาว

ผลการวิจัยของ ดร. สมชัย จิตสุชน ค้นพบว่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๗ กองทุนหมู่บ้านไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และยังพบด้วยว่า กว่าร้อยละ ๕๐ ของชาวบ้านที่ตอบว่าตนเอง “พอใจ” กับนโยบายนี้ ต้องขายทรัพย์สินหรือกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นมาชำระคืนเงินกู้ให้กองทุน นอกจากนี้ ดร. สมชัยยังเปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๙ ว่า จากการลงไปเก็บข้อมูลระหว่างปลายปี ๒๕๔๗ ถึงต้นปี ๒๕๔๘ พบว่า มีลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ที่นำเงินกู้ไปขยายกิจการเดิมหรือสร้างกิจการใหม่ ซึ่งนั่นเป็นวิธีเดียวในการใช้เงินกู้อย่าง “เป็นประโยชน์” กับตัวลูกหนี้เองในระยะยาว และช่วยให้เขาชำระหนี้ได้จากคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมจริง ๆ ไม่ใช่ไปขายทรัพย์สินหรือกู้เงินจากที่อื่นมาคืน

เมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งป่าวประกาศให้ลูกบ้านมารับเงินกู้ไปง่าย ๆ คนละ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท โดยแทบไม่ต้องทำอะไร หรือไม่ก็เขียนโครงการจอมปลอมส่งเข้ามา ยิ่งทำให้เห็นชัดว่ากองทุนหมู่บ้านไม่น่าจะช่วยคนจนอย่างยั่งยืนได้เลย นอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังมีสิทธิ์แทงหนี้สูญอีกด้วย เพราะลูกหนี้หลายรายคิดว่านี่เป็น “เงินให้เปล่า” จากรัฐบาลหรืออดีตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องใช้คืน

นอกจากจะใช้กระบวนการอนุมัติและติดตามหนี้ที่ฉาบฉวยกว่าหลายเท่า กองทุนหมู่บ้านยังแตกต่างจากกรามีนตรงที่ “กลุ่มเป้าหมาย” ไม่ใช่ “คนจน” ที่มีจำนวนประมาณ ๖ ล้านคนทั้งประเทศ หากแต่เป็นลูกบ้านทุกคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ งานวิจัยของ ดร. สมชัยพบว่ามีคนจนเพียงร้อยละ ๗ เท่านั้นที่ได้รับเงินกู้จากกองทุนหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐไทยจะไม่เคยนำโมเดลของกรามีนมาใช้อย่างถูกต้องจนเกิดผล (ซึ่งคงไม่ทำให้ยูนุสแปลกใจ เพราะเข

http://peuntawanok.forumsmotion.com

2ธนาคารกรามีน - ธนาคารของคนจน Empty กรามีนในไทย Fri Jul 23, 2010 7:56 pm

peeraya



คงอีกไม่นานเกินรอ กรามีนในไทยจะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่น้ำท่วมหลังเป็ด tongue

หรือไม่ก็วันที่คนไทยทุกคน
ได้อ่านและซึมซับเรื่องราวของยูนุสทั่วกัน

ขึ้นไปข้างบน  ข้อความ [หน้า 1 จาก 1]

Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ