สโมสรเพื่อนตะวันออก
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.
สโมสรเพื่อนตะวันออก

peunpeuntawanok.forumsmotion.com


You are not connected. Please login or register

บทสนธนา แอนนี่ เลนนาร์ด นักเคลื่อนไหวและรณรงค์ ที่มาของ story of stuff

Go down  ข้อความ [หน้า 1 จาก 1]

กัญจน์


Admin

The Story of 'แอนนี่ เลนนาร์ด' นักท่อง(หลุม)ขยะสุดขอบโลก
โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ http://bit.ly/cEIGi6

ผู้หญิงคนหนึ่ง ใช้เวลากว่า 10 ปีเดินทางสำรวจขยะทั่วโลกเพื่อจะค้นพบว่า"ข้าวของ"กับ"ขยะ"นั้นแทบจะไม่ต่าง กันเลย ขึ้นอยู่แค่ว่าคุณเบื่อมันหรือยัง

"หลุมทิ้งขยะ" ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไป


แอนนี่ เลนนาร์ด นักเคลื่อนไหวและรณรงค์สาย เลือดอเมริกัน วัย 46 เริ่มต้นบทสนทนาด้วยประโยคนั้น ซึ่งกลายมาเป็นเข็มทิศใหญ่ให้ชีวิตเริ่มต้นออกเดินทางท่องเที่ยว "หลุมขยะ" ทั่วโลก กินเวลานาน 10 ปี กับอีก 40 ประเทศ

ก่อนข้อมูลทั้งหมดจะถูกแปรรูปและย่อยออกมาเป็น The Story of stuff (เรื่องราวข้าวของ) แอนิเมชั่นน่ารักๆ เข้าใจง่ายๆ แต่ตีแผ่ลัทธิบริโภคนิยม,วัตถุนิยมแบบถึงกึ๋น


ยกตัวอย่างเช่น คนอเมริกันบริโภคทรัพยากร ราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกทั้งหมด และถ้าทุกคนจะบริโภคแบบอเมริกันชน ก็คงต้องมีโลกไว้สำรองอีก 3-4 ใบ , 99 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งของ จะกลายเป็นขยะภายในเวลาเพียง 6 เดือน ฯลฯ


ปี 2007 วันแรกที่เปิดตัวและปล่อยแอนิเมชั่นความยาว 20 นาทีชุดนี้ออกไป ยอดคลิกเรทสูงถึง 50,000 ครั้ง จนถึงวันนี้มียอดคลิกชม สูงถึง 12 ล้านครั้งแล้ว เฉลี่ยมีคนดูวันละ 10,000 คน

มาเมืองไทยคราวนี้จากเทียบเชิญของมูลนิธิบูรณะนิเวศ,คณะทำงานเพื่อโลก เย็นที่เป็นธรรม,โครงการเราเปลี่ยน โลกเปลี่ยน และโครงการกินเปลี่ยนโลก เธอเพิ่งจะเสร็จสิ้นกับแอนิเมชั่นชุดล่าสุด The Story of cosmetics เจาะกลุ่มคนรักสวยรักงามที่ไม่รู้ว่าตัวเองอ่วมไปด้วยสารพิษ

ฉะนั้น ใครกำลังจะโละมือถือรุ่นเก่า เปลี่ยนโน๊ตบุครุ่นกลางเก่ากลางใหม่ไปเป็นแมคบุ๊คสุดบางเฉียบ หรือกำลังจะซื้อเซรั่มกระชับผิวหน้าจากเคาเตอร์แบรนด์ชื่อดัง


ฟังเธอก่อน...





อะไรคือแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นออกเดินทางค้นหาขยะของคุณ


ฉันโตมาในอเมริกา อยู่ในส่วนที่ยังมีความสวยงามของธรรมชาติอยู่ เราไปแคมปิ้ง ไปเที่ยวป่ากัน ฉันชอบอยู่ในป่า และวันหนึ่ง ป่าก็ถูกตัดไป ฉันสงสัยว่าใครนะตัดต้นไม้ไป ตอนนั้นฉันก็เป็นแค่เด็ก เลยสับสนมากกับเรื่องพวกนี้


พอโตขึ้น ฉันเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ค ที่นั่นขยะเยอะมากๆ บนถนน กองถุงดำสูงเกือบท่วมหัวเลยทีเดียว ฉันมาจากเมืองเล็ก ไม่เคยเห็นอะไรมากมายแบบนี้มาก่อน

วันหนึ่งฉันก็สงสัยว่าอะไรกันนักหนาที่อยู่ในถุงขยะเหล่านี้ ก็เลยลองเปิดดู ฉันเห็นแต่กระดาษทั้งนั้นเลย ก็เลยเข้าใจว่าพวกเขาตัดต้นไม้กันไปทำไม

และฉันก็ยังสงสัยอีกว่า ขยะพวกนี้มันไปไหนต่อ ฉันก็เลยไปที่หลุมทิ้งขยะ ครั้งนั้นมันเปลี่ยนชีวิตฉันไปเลยทีเดียว ทุกทิศทางเต็มไปด้วยขยะ สุดลูกหูลูกตา ทั้งอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือ

ฉันพยายามทำความเข้าใจกับมัน ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง สิ่งเหล่านี้มันมาจากไหน แล้วไปไหนต่อ และเริ่มเดินทางไปรอบโลก ฉันไปมา 40 ประเทศ ไปดูโรงงานที่ผลิตสิ่งของเหล่านั้นขึ้นมา ไปดูพวกที่ทิ้งขยะมาด้วย พยายามดูว่ามันส่งผลกระทบอะไรบ้าง ก็เลยกลายเป็นว่าสงสัยไปเรื่อย ว่าสิ่งนี้มาจากไหน ทำจากอะไรบ้าง ใครทำ มันไปไหนเมื่อฉันใช้มันเสร็จแล้ว และฉันก็พบกับความประหลาดใจเสมอเลย

ฉันมาเอเชียบ่อย เพราะอเมริกาส่งขยะจำนวนมากมาทิ้งที่เอเชีย เลยต้องตามมาดู คุณจำคลองเตยได้ไหม นานมาแล้วนะ ตอนไฟไหม้ เพราะใครบางคนเอาของเสียเข้ามาจากหลายประเทศ แล้วก็เอามากองไว้ที่ท่าเรือ พอไฟไหม้ ก็หายนะเลย สารเคมีรั่วออกมาเยอะมาก



ในการเดินทางไปทำเรื่องพวกนี้ มีอุปสรรคบ้างหรือเปล่า

มากเลยล่ะค่ะ บางบริษัทก็เข้ามาร่วมมือนะ เขาพยายามจะทำให้มันดีขึ้นจริงๆ เขาพยายามจะหาสิ่งมาทดแทนสารเคมีที่เป็นพิษ ในผลิตภัณฑ์ของเขา แต่กับบางบริษัทก็สนใจแต่ผลกำไรเท่านั้น เขาไม่ได้สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นจริงเป็นจังหรอก บริษัทพวกนี้จะซ่อนบางอย่างไว้


สมัยที่ จอร์ ดับเบิ้ลยู บุช เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลเป็นอุปสรรคอีกอย่าง รัฐบาลไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมเลย ไม่ค่อยสนใจคนด้วย เราก็ทำได้แค่หวังกับ โอบามา ว่าเขาจะเป็นมิตรกับเราบ้าง (ยิ้ม)

ฉันคิดว่ารัฐน่าจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง ดูแลสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่คอยปกป้องผลกำไรของพวกบริษัทเหล่านั้น สิ่งนี้แหละคือปัญหาใหญ่ ว่าอะไรคือบทบาทของรัฐบาล





มีตัวอย่างอะไรที่มันโดนใจบ้าง ในการเดินทาง ทั้งดีและไม่ดี


ที่ทำร้ายจิตใจฉันมากเลยคือ ที่เมืองโภปาล ในประเทศอินเดียตอนกลาง มีบริษัทอเมริกันตั้งอยู่ ผลิตยาฆ่าแมลง ที่นั่นมีสารเคมีเยอะมาก และมันอยู่กลางเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ด้วย เขาจัดการด้านความปลอดภัยได้แย่มากๆ ไม่มีความระมัดระวัง และเขาก็รู้นะว่าเขาไม่ได้ป้องกัน มีหลักฐานแสดงไว้มากมาย


แล้วกลางดึกคืนหนึ่ง สารพิษพวกนั้นก็รั่วออกมาจากโรงงาน เข้าไปสู่เมืองที่มีคนจนๆ อาศัยอยู่ คนที่นั่นบอกว่า มีควันมา รู้สึกแสบตาเหมือนถูกเผา ทีแรกนึกว่ามีคนกำลังเผาพริกอยู่ แต่มันก็มาเรื่อยๆ จนคนเริ่มวิ่งหนีกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าไอ้สารเหล่านี้มาจากไหน พวกเขาวิ่งไปเป็นชั่วโมงๆ กลุ่มควันเหล่านั้นก็ยังคงตามเขามา สุดท้ายคนตายไปเกือบ 20,000 คน ฉันไปที่เมืองนั้นบ่อย มันแย่มากๆ เลย

ฉันเคยเห็นรูปถ่าย ตอนเช้าหลังจากเกิดเหตุขึ้น มีเด็กนอนตายกันบนถนน พ่อแม่กำลังมองดูศพพวกนั้น มันแย่มาก บริษัทนั้นก็ยังอยู่ที่เดิมนะคะ นานกว่า 20 ปีแล้วก็ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าอะไรอยู่ในแก๊สที่รั่วไหลในวันนั้น หมอก็พยายามช่วยคน แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าอะไรอยู่ในแก๊ส

ศาลอินเดียเรียกตัวประธานบริษัทนั้นมา แต่เขาก็ไม่มา เขายังมีชีวิตอยู่อย่างสบายในอเมริกา นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง ว่าบริษัทใหญ่มองคนจนๆ ว่าไร้ค่า น่าเสียใจมาก

เรื่องดีๆ ก็มี เช่น สารเคมีเขียว (Green Chemistry) สิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1950 มาจากการคุยกันของนักเคมีว่า เราสามารถพัฒนาเคมีภัณฑ์แบบใหม่ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพได้หรือเปล่า เป็นสารชีวภาพ เคมีสีเขียว มันน่าทึ่งมาก เรามีทางที่จะลดอันตรายจากพวกมันลงได้ ลดการใช้สารพิษลง เช่น สารใหม่ ที่ทำให้การทาสี ทากาวไม่เป็นพิษอีกต่อไป





เรื่องดีๆ กับเรื่องแย่ๆ อันไหนมากกว่ากัน

ถ้าเป็นทุกวันนี้ เรื่องที่แย่ๆ คงมีมากกว่า





จาก The Story of stuff เน้นเสียดสีการบริโภคเยอะๆ เลยอยากถามคุณว่า แล้วการจะมีของน้อยๆ แต่สนุกเยอะๆ ทำได้ไหมและทำได้อย่างไร

ทุกวันนี้เราถูกยัดเยียดด้วยข้อความที่ว่า "มีของเยอะๆ สิ ถึงจะสนุก" สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถทำเพื่อหยุดข้อความนั้นได้คือ ต้องไม่ให้มีการโฆษณามากมายขนาดนั้น


ในประเทศอังกฤษ มีมูลนิธิหนึ่งทำรายงานเรื่องดัชนีความสุขออกมาทุกๆ ปี แล้วดูว่า ประเทศต่างๆ เขามีความสุขกันอย่างไร เทียบกับปริมาณทรัพยากรที่ใช้ไป มีการจัดอันดับ ปีที่แล้วมีทั้งหมด 178 ประเทศ อเมริกาอยู่ที่ 158

อันดับ 1 คือ คอสตาริกา เขามีความสุขมากกว่าอเมริกา ใช้ทรัพยากรแค่ร้อยละ 25 ของอเมริกา ประเทศไทยอยู่ที่ 32 ดังนั้นไทยดีกว่าอเมริกามากๆ แสดงว่าคุณมีความสุขมากกว่าทรัพยากรที่คุณใช้ไป มีการจัดการทรัพยากรให้กลายเป็นความสุขของคนได้ดีมากๆ





เมื่อคุณรู้มากๆ แล้วทำให้การใช้ชีวิตของคุณยากขึ้นหรือเปล่า

ไม่หรอก แต่บางทีก็เหนื่อยนะ เหมือนจะเป็นไมเกรน เพราะทุกครั้ง ฉันชอบคิดว่า ไอ้ของสิ่งนี้มันมาจากจีน มาจากมาเลเชีย แล้วพอใช้เสร็จมันก็จะต้องไปสู่หลุมขยะ ที่ ฉันหยุดคิดไม่ได้เลย ว่ามันมาจากไหน มันไปไหนต่อ บางทีฉันก็อยากให้สมองหุบปากบ้าง (หัวเราะ)





แล้วทำให้ชีวิตสมดุลอย่างไร


สิ่งสำคัญเลยคือ อย่าโทษตัวเองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งนึงที่พวกบริษัทมักจะทำกันคือ บอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาของพวกคุณ ขยะเกิดขึ้นเพราะพวกคุณเลือกที่จะใช้ถุงพลาสติกเอง เพราะคุณใช้แท็กซี่แทนจักรยาน พวกบริษัทเหล่านี้ชอบโยนให้มันเป็นปัญหาของคุณ แต่เราไม่มีทางเลือก เราไม่ได้เป็นคนใส่สารพิษลงไป เรามีส่วนตัดสินใจหรือ เปล่าเลย บริษัทเหล่านั้นต่างหาก



บางทีฉันก็ทนไม่ได้นะ ที่เห็นนักสิ่งแวดล้อมบางคนคิดว่า เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการปิดไฟในห้อง การเปลี่ยนหลอดไฟ การขี่จักรยานแทนขับรถ การเอาขวดน้ำไปเอง แล้วเราจะแก้ปัญหาได้ เพราะแม้เราทำทุกอย่างที่ว่านี้แล้วมันก็ยังไม่พอหรอก เหมือนการว่ายทวนน้ำ กระแสของเศรษฐกิจมันถาโถมมาที่เรา ฉะนั้นมันต้องแก้ที่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ




ที่บ้านคุณมีสารพิษอะไรบ้าง

มีบ้าง ไม่เยอะมากหรอก ฉันเป็นคนที่เคร่งครัดเรื่องพวกนี้


ฉันไปทดสอบสารพิษในตัวมา ตรวจจากเลือด จากเส้นผม ฉันไม่ได้อยากให้ใครต้องมาเคร่งแบบฉันนะ ฉันไม่ใช้พีวีซี ไม่ใช้กะทะเทฟล่อน ไม่ใช้สเปรย์ฉีดผม ฉันเข้มงวดมากไม่ให้ของพวกนี้เข้ามา แต่ร่างกายฉันก็ยังมีสารพิษมากมายอยู่ดี

ฉันว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่า เขาสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายได้ ถ้าเขาเรียนรู้มามากพอ ถ้ามีทางเลือกที่ดีในร้านขายของ และถ้ารวย เขาอาจจะซื้อผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใช้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะป้องกันตัวเอง เมื่อคุณอาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ คนทั้งโลกมีสารพิษอยู่ในตัวกันทั้งนั้น

มีการตรวจเลือดเด็กเกิดใหม่ในอเมริกา พบว่ามีสารพิษทั้งทางเกษตรและอุตสาหกรรมอยู่ในเด็กแรกเกิด 287 ชนิด หมายความว่าเด็กที่เพิ่งเกิดมาก็มีมลทินเรียบร้อยแล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องกำจัดสารพิษเหล่านี้ออกไป





อะไรเป็นตัวจุดประกายให้ทำ "เรื่องราวของเครื่องสำอาง" (The Story of Cosmetics)

เพราะมันเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เรื่องเครื่องสำอางค์จะสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษ หรือ สารพิษ


มีสารเคมีกว่าพันชนิดถูกห้ามใช้ในเครื่องสำอางของยุโรป แต่ในอเมริกา แค่ 12 ชนิดเอง เราก็ไปบอกเขาว่า เอาสารพิษออกไปเถอะ แต่เขากลับบอกว่า ไม่มีทาง





แปลถ้าเราอยากสวย เราก็ต้องยอมเสี่ยง?

คุณหมายถึงความสวยคืออันตรายใช่ไหม แย่กว่านั้นอีก เราต้องเสียสละตัวเองเพื่อแลกกับความสวยเชียวล่ะ


มาเมืองไทยคราวนี้ ฉันไปสยาม เซ็นเตอร์กับลูกสาวมา ที่นั่นน่าเกลียดมาก โอ้...พระเจ้า





ทำไมถึงน่าเกลียด

หลายเหตุผลเลย มันเป็นเรื่องของการบริโภคนิยม คุณหาความหมายของชีวิตจากสิ่งที่คุณซื้อหามา แล้วของพวกนั้นก็แพงเอามากๆ เราก็เลยต้องหาเงินให้ได้มากๆ ตามไปด้วย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็เลยมากขึ้นไปด้วย ฉันอยากเห็นทุกคนมีอาหารกิน มากกว่าจะเห็นคนหนึ่งอด อีกคนมีกระเป๋าราคาเป็นหมื่น





คุณเชื่อว่าชีวิตมีทางเลือกหรือเปล่า

ใช่ ชีวิตควรมีทางเลือก และสำคัญเลยว่ามันควรเป็นทางเลือกที่ดีขึ้นด้วย แต่ต้องจำไว้ว่าทางเลือกนั้นมีผลกระทบกลับมาหรือไม่ พวกนักออกแบบ หรือรัฐบาลก็มีทางเลือก และทางเลือกของพวกเขาก็ส่งผลกระทบมากๆ ด้วย ฉะนั้นเราต้องไปบอกบริษัทให้เลือกทางที่ถูกต่างหาก เพราะเราทำแล้วมันเปลี่ยนได้แค่นิดเดียว แต่หากพวกเขาทำ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นใหญ่โตมาก


สตีฟ จ๊อบส์ ฉันเกลียดหมอนี่มาก แอปเปิ้ลผลิตขยะเยอะมาก ฉันไม่ชอบเลย พวกนี้ชอบทำให้คิดว่าใช้ของเขาแล้วเจ๋ง กรุงเทพฯ นี่มีโฆษณาแอปเปิ้ลทุกที่เลยนะ นี่มันไม่ใช่เรื่องของการใช้งานแล้ว มันเป็นเรื่องของแฟชั่น เขาต้องรับผิดชอบกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป





คุณคงเคยได้ยินเรื่องโรงงานไอโฟนในประเทศจีนแล้ว?

เพิ่งมีคนส่งรูปถ่ายของที่นั่นให้ฉันเมื่อวานนี้เอง เรื่องฆ่าตัวตาย ว่าต้องมีการเซ็นสัญญาแล้วว่าถ้าคุณทำงานที่นี่ จะต้องไม่ฆ่าตัวตาย มันบ้ามาก


ฉันมีเพื่อนหลายคนที่รู้เรื่องอิเลคทรอนิคส์ เขาบอกว่าเหตุผลที่คนฆ่าตัวตายกัน ก็เพราะแรงกดดันที่ต้องทำงานด่วนมากๆ แล้วการแก้ปัญหาของแอปเปิ้ล คือเอาตาข่ายมากันคนโดด บ้าชัดๆ





แล้วตอนนี้คุณใช้โทรศัพท์อะไร


แบล็คเบอร์รี่ แต่ฉันมีเหตุผลนะ ฉันเดินทางบ่อย ต้องใช้รับส่งอีเมล์เป็นประจำ ใช้จนเยินมากแล้ว ต้องพันเทปกันมันหลุดออกจากกัน(ยิ้ม)





คุณเคยโดนขู่บ้างไหม

มีบ้าง เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ในอเมริกา เป็นพวก "ต่อต้านนักอนุรักษ์แบบสุดโต่ง" น่ากลัวนะ มีปืนด้วย เขาส่งอีเมลมาว่า เขาจะมาฆ่าฉัน ฉันก็คิดว่า คุณจะมาฆ่าฉันเพราะฉันเรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์พวกนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น เนี่ยนะ ฉันก็ไม่รู้ว่าไปทำอะไรให้เขาโกรธขนาดนั้น แปลกมากๆ แต่เป็นกลุ่มคนบ้าเล็กๆ นั่นล่ะ ตำรวจกับเอฟบีไอก็จับตาดูอยู่





ถ้าจะถามว่า ราคาแท้จริงของโน๊ตบุคเครื่องหนึ่ง ประมาณเท่าไหร่

ตอนทำเรื่อง ‘เรื่องราวข้าวของ’ (Story of stuff) ฉันจ้างให้นักเศรษฐศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์มูลค่าที่แท้จริงของโน้ตบุ๊ค เครื่องหนึ่งให้ พอเริ่มทำกันไปก็พบว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องรวมมูลค่าไปถึงเด็กในคองโก ที่ต้องเลิกเรียนไปทำงานในเหมือง รวมถึงคนงานเหมืองในแอฟริกาที่ต้องเสียแขนไป ต้องรวมคนงานที่โดดตึกในจีนด้วย และเพราะเขาหายใจเอาสารพิษเข้าไป ก็เลยลามไปถึงลูกๆ และโรงงานเหล่านั้นก็ปล่อยสารพิษลงในแม่น้ำ ทั้งในจีน และอินเดีย นักเศรษฐศาสตร์ของฉันเลยบอกว่าเป็นไปไม่ได้


เขาดูมูลค่าของโน้ตบุ๊คโดยศึกษาวัสดุ 7 ชิ้น ที่ก่อให้เกิดมลพิษ 7 อย่าง แล้วพบว่า โน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งมีมูลค่ามากกว่าราคาของมัน ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว นั่นดูแค่ปัจจัย 7 อย่างเท่านั้นนะ เมื่อเราซื้อโน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งราคา 1,000 - 2,000 ดอลลาร์ เราไม่ได้จ่ายค่าตัวเครื่อง แต่คนงานเหมืองในคองโก ในแอฟริกา คนงานในจีนต่างหากที่จ่าย





ตอนนี้คุณใช้เทคโนโลยีสีเขียวอะไรบ้าง

ฉันมีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้าน มีพลังงานมากเกินที่ฉันจะใช้ได้ทั้งบ้าน พอจะชาร์จกับรถพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย




บางครั้งเทคโนโลยีสีเขียวเป็นเรื่องของคนรวย ทำอย่างไรคนจนถึงจะเป็นมิตรกับโลกบ้าง

เมื่อคุณพยายามจะทำสิ่งดีๆ กับโลก เหมือนคุณว่ายทวนน้ำ ฉันซื้อโซล่าร์เซลล์ กับรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแพงกว่ารถธรรมดา แต่ในตอนนี้คุณสามารถจ่ายได้ถูกลงเพื่อทำอะไรๆ ให้ถูกต้อง


ในเมื่อรัฐบาลมีเงินสร้างโรงงานนิวเคลียร์ได้ ทำไมจะทำให้คนจนมีแผงโซลาร์ใช้ไม่ได้ เงินอุดหนุนนี่เป็นเรื่องชัดเจน ว่ารัฐบาลจะทำเพื่อบริษัทใหญ่ๆ หรือประชาชน มันเป็นคำถามสำคัญถึงรัฐบาลเลย



ฉันเชื่อว่างานของรัฐบาลคือรับใช้ประชาชน

....................................................

(หมายเหตุ : ติดตามแอนิเมชั่นทุกเรื่องของแอนนี่ เลนนาร์ดได้ที่ www.storyofstuff.com)

http://peuntawanok.forumsmotion.com

ขึ้นไปข้างบน  ข้อความ [หน้า 1 จาก 1]

Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ